Solar Carpark บริเวณลานจอดรถตลาดสามย่าน

Share

เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 13

สำนักงานจัดการทรัพย์สิน

รายละเอียดข่าวสาร

อิมแพค โซล่าร์ จับมือ บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด และสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถบริเวณลาดจอดรถตลาดสามย่าน พร้อมเปิดตัวโครงการ “PMCU Solar Carpark” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แนวคิด ‘เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ’ (Chula Smart City) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการปรับปรุงพื้นที่ลานจอดรถ เพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เพื่อเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานต่างๆ รวมพื้นที่หลังคา 4,000 ตารางเมตร มีกำลังติดตั้งขนาด 770 กิโลวัตต์ ซึ่งมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1.1 ล้านหน่วยต่อปี หรือเทียบเท่ากับค่าไฟฟ้า 4.4 ล้านบาทต่อปี รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สิน และนวัตกรรม กำกับดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิด “Chula Smart City” โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ด้วย 4 แนวคิดหลัก หรือ “SMART 4” ประกอบด้วย “SMART MOBILITY, SMART ENERGY, SMART LIVING และ SMART ENVIRONMENT โดยการพัฒนาและติดตั้งโครงการ “PMCU Solar Carpark” ในบริเวณลานจอดรถตลาดสามย่าน อยู่ภายใต้แนวคิด SMART ENERGY ที่ส่งเสริมการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ ผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีอัจฉริยะให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยกระบวนการผลิตไฟฟ้าจะเน้นไปที่การผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งความร่วมมือในการพัฒนาและติดตั้งโครงการ “PMCU Solar Carpark” ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการแสดงศักยภาพในการพัฒนาองค์กรแบบมืออาชีพในการบริหารจัดการพื้นที่พาณิชย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเป็นสถานที่ต้นแบบให้ร่วมศึกษาการติดตั้งระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop) และระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งหากเป็นไปตามแนวทางที่วางไว้โครงการ “PMCU Solar Carpark” จะเป็นโครงการต้นแบบให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการนำโมเดล และเทคโนโลยีดังกล่าวไปขยายผล สู่การใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในวงกว้าง เป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบใช้แล้วหมดไปอย่างยั่งยืน